CPTPP คืออะไร ทำไมเสียงค้านเข้าร่วมถึงดังไปทั่วทั้งสังคม

CPTPP คืออะไร ทำไมเสียงค้านเข้าร่วมถึงดังไปทั่วทั้งสังคม
กลายเป็นคำศัพท์ที่ฮอตฮิตขึ้นมาทั่วทั้งสังคมอีกครั้งกับ CPTPP หลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมนำระเบียบวาระการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 27 เม.ย. 2563)

กลายเป็นคำศัพท์ที่ฮอตฮิตขึ้นมาทั่วทั้งสังคมอีกครั้งกับ CPTPP หลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมนำระเบียบวาระการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 27 เม.ย. 2563)

 

เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ได้มากขึ้น ลองมาไล่อ่านบทสรุปตามหัวข้อด้านล่างนี้ที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เคยเผยแพร่มาแล้วเมื่อปี 2561 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน

CPTPP คืออะไร?

จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ CPTPP ถูกพูดถึง เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อนก็เคยมีข่าวมาแล้วว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศว่าไทยจะเตรียมตัวเข้าร่วมกับความตกลงที่ว่านี้

CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ความจริงแล้ว ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2549 (2006) มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2550 (2017) ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบันสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย

ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

CPTPP ต่างจาก TPP ยังไง?

ความแตกต่างระหว่าง CPTPP และ TPP แบ่งได้เป็น 2 ข้อใหญ่ๆ

ข้อแรก คือขนาดของเศรษฐกิจและการค้า แน่นอนว่าหลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกถอนตัวออกไป ทั้งเศรษฐกิจ การค้าและจำนวนประชากรรวมของ CPTPP ย่อมมีขนาดเล็กลง ถ้าดูจากตัวเลขของธนาคารโลกจะเห็นว่าขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP หลังไม่มีสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 38% ของเศรษฐกิจโลก เป็น 13% ส่วนขนาดการค้ารวมลดลงจาก 27% เป็น 15% ทำให้ CPTPP เสียตำแหน่งข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกไป (ส่วนคนที่รับตำแหน่งนี้ต่อคือ RCEP มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 31% ของเศรษฐกิจโลก)

ข้อที่สอง คือรายละเอียดของความตกลง หลังตัดสินใจเดินหน้าต่อในนาม CPTPP สมาชิก 11 ประเทศที่เหลือก็ระงับข้อบัญญัติ (provision) 22 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ สนับสนุนมาก แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น การคุ้มครองอุตสาหกรรมยา การขยายระยะเวลาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจาก 50 ปีเป็น 70 ปี และการให้สิทธินักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลในบางกรณีที่นโยบายรัฐส่งผลลบต่อธุรกิจ เป็นต้น การระงับข้อตกลงที่ว่านี้ทำให้ CPTPP ดูผ่อนปรนและเข้มงวดน้อยกว่า TPP ก็จริง แต่ก็ยังถือว่าเป็นความตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงเพราะข้อบัญญัติส่วนใหญ่ยังคงไว้เหมือนเดิม เช่น การเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการในระดับสูง กฎหมายสิทธิแรงงาน เป็นต้น ที่สำคัญคือประเทศสมาชิกอาจพิจารณานำข้อตกลงที่ระงับไปกลับมาใช้ใหม่ก็ได้

โดยสรุปแล้ว CPTPP ก็คือ TPP ที่ไม่มีสหรัฐอเมริกา มีขนาดเศรษฐกิจและการค้าเล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ไทยจะได้อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?

ในฐานะที่เป็นชาติการค้าที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าค่อนข้างสูงราว 123% ของ GDP ประเทศไทยก็ประกาศเตรียมพร้อมจะเข้าร่วม CPTPP ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และมีเป้าหมายจะเจรจาเข้าร่วมให้ได้ภายในปีนี้ คำถามถัดมาคือบ้านเราจะได้ประโยชน์อะไรจาก CPTPP บ้าง

 
 
 

1. การส่งออก CPTPP จะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2% สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเม็กซิโกคือ รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสไปได้ดีถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ

2. การลงทุนจากต่างประเทศ การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป

3. ความสามารถทางการแข่งขัน CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ เพราะ CPTPP มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนปรนขึ้นกว่า TPP ทำให้ไทยได้ประโยชน์ในส่วนนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมยา TPP เคยบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับการผูกขาดด้านยาเพิ่มขึ้น ทำให้การเข้าถึงยาสามัญเป็นเรื่องยากสำหรับภาครัฐและประชาชนทั่วไป ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลก็จะยิ่งสูงตาม แต่สุดท้ายข้อตกลงนี้ถูกระงับไป ไทยจึงไม่จำเป็นต้องเสียประโยชน์ส่วนนี้แล้วหากต้องการเข้าร่วมกับ CPTPP

ไทยจะเสียประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?

มาทางฝั่งผลเสียกันบ้าง 2 ธุรกิจไทยที่น่าจะโดนกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP คือ

1. ธุรกิจบริการ สำหรับภาคบริการ CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป

2. อุตสาหกรรมเกษตร ที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ ในไทยเองก็ต้องเตรียมรับมือกับการรุกตลาดของต่างชาติ เนื่องจาก CPTPP จะเปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทั้งจากการลดภาษีสินค้านำเข้า การเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อกิจการท้องถิ่นได้

เป็นธรรมดาที่เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ การเข้ามาของ CPTPP ก็เช่นกัน แต่ถ้ามองในระยะยาว การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP น่าจะเป็นผลดีกับไทยมากกว่า เพราะจะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนภายในประเทศปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบข้างต้นยังเป็นเพียงการคาดเดาข้อตกลงของ CPTPP ในปัจจุบัน จุดยืนของไทยอาจเปลี่ยนแปลงได้ หาก CPTPP ปรับกฎเกณฑ์เพื่อดึงสหรัฐฯ ให้กลับมาเข้าร่วม หรือมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมสำหรับประเทศสมาชิกใหม่ โดยเราน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นหลังจากที่ CPTPP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

 
2020-04-27 18:04:07
949

มวยดังในอดีต

มวยดังในอดีต ตำนานมวยไทย อดีตนักมวยชื่อดัง ตามหานักมวยชื่อดังในอดีต | ดีเด็ดมวยไทย

กีฬารอบโลก

กีฬารอบโลก นานากีฬา ข่าวเด็ดๆ คัดเน้นๆ เพื่อให้แฟน ทีเด็ดมวยไทย ได้ดูเน้นๆ กีฬาดังๆ ฮ็อตฮิตทั่วโลก

ดาวรุ่งภูธร

ดาวรุ่งภูธร มวยดาวรุ่ง มวยหน้าใหม่จากภูธร มวยบ้านนอก ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย

ขวัญใจแฟนมวย

ขวัญใจแฟนมวย นักมวยขวัญใจแฟนมวย นักมวยหน้าหยก พระเอกมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย