Fight Club : สังเวียนมวยข้างถนน ที่ให้คนมาต่อยกัน เพื่อสร้างมิตรภาพ

Fight Club : สังเวียนมวยข้างถนน ที่ให้คนมาต่อยกัน เพื่อสร้างมิตรภาพ
คุณคิดว่าความหมายของการต่อสู้ คืออะไร?

สู้กันเฉพาะหน้า, รบกัน, ตีรันกัน คือความหมายของคำว่า ต่อสู้ ตามพจนานุกรมไทย การสู้กันซึ่งหน้า ตัวต่อตัว ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ด้วยการใช้กำลัง อาจเป็นคำบรรยาย ที่เล่าถึงความหมายการต่อสู้ได้ดีที่สุด

แต่นั่น คือความหมายตามตัวอักษร ที่ใช้อธิบายถึงลักษณะ พฤติกรรม ของการต่อสู้ แท้จริงแล้ว การต่อสู้ อาจมีความหมายมากกว่านั้น

หลายคน อาจมองคำนี้ในแง่ลบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ตามแต่ ทว่าสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง การต่อสู้ นำมาซึ่งสิ่งดีๆมากมาย โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “มิตรภาพ” สิ่งเล็กๆ ที่ความหมายยิ่งใหญ่ ซึ่งดูเหมือนไม่สามารถหาได้ บนเวทีการต่อสู้

Main Stand จะพาไปพบกับ ไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ (Fight Club Thailand) กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีอุดมการณ์ความเชื่อ ว่าการต่อสู้ ข้างถนน สามารถเป็นได้มากกว่า การทะเลาะวิวาท และมีความหมายที่มากกว่านั้น

ติดตามเรื่องราวของพวกเขาไปพร้อมกับเรา

 

ไฟต์ คลับ ที่ต่างจากโลกจอเงิน

“ตอนที่ผมเริ่มทำ เรื่องระเบียบกฎกติกา ไม่มีอะไรเลย ก็แค่เอาผ้าก๊อซมาพันมือ มาต่อยกัน ตั้งกล้องถ่ายเล่นๆ พอมีเพื่อนคนนึงของผม เขาถ่าย แล้วเอาไปเผยแพร่ อัพลงในอินเทอร์เน็ต มันก็เริ่มดัง เลยทำต่อมาเรื่อยๆ”

เบียร์ - โสภณ นาถนุกูล ผู้ก่อตั้งไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ กล่าวถึงยุคแรกเริ่มของ การต่อสู้ประเภทนี้ 

หากพูดถึงคำว่า ไฟต์ คลับ คนไทยจำนวนไม่น้อย คงคุ้นชื่อนี้เป็นอย่างดี ในฐานะภาพยนตร์เรื่องดัง ที่นำแสดงโดย แบรด พิตต์ (Brad Pitt) และเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Edward Norton) ซึ่งบอกเล่าถึงสองตัวเอก ที่ร่วมตัวกัน สร้างกลุ่มนักสู้ใต้ดิน เพื่อต่อต้านระบบของสังคม จนกลายเป็นแรงบันดาลใจ ของารเกิดกลุ่มนักสู้ใต้ดิน หลายแห่งในโลกแห่งความจริง

“แรงบันดาลใจบางส่วน เราเอามาจากภาพยนตร์ครับ อย่างเช่น ชื่อกลุ่ม ที่ทำให้เรามารวมกัน แต่ว่าเราไม่ได้คิดจะเป็น แบบในภาพยนตร์ อะไรขนาดนั้น”

สิ่งที่เห็น ผ่านทางภาพยนตร์ คือกลุ่มไฟต์ คลับ ที่ป่วนเมือง วางระเบิด ปล้นต่างๆ นานา นั่นไม่ใช่เหตุผล การรวมตัว ของกลุ่มไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ เพราะจุดเริ่มต้น ของไฟต์ คลับ ไทย มีภาพที่แตกต่างออกไป จากในภาพยนตร์

“เราไม่ได้ตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่อสู้รับกับใคร หรือมีปัญหากับใคร สำหรับผม ที่ไฟต์ คลับ เกิดขึ้น เพราะเรามองว่านี่คือกีฬาแนวใหม่ เป็นเหมือนกีฬาเอ็กซ์ตรีม อีกประเภทหนึ่ง”

“ผมมองว่าคนไทยมีความเป็นนักมวย นักสู้ อยู่ในสายเลือด แต่ปกติ กีฬามวยกลายเป็นเรื่องเฉพาะ ของนักมวย หรือนักกีฬา ผมจึงมีความคิดว่า ถ้าเรามาต่อยมวยกัน เหมือนเราเล่นกีฬาอื่น เตะฟุตบอล เตะฟุตซอล มันก็น่าจะดี”

“ผมต้องการให้มีพื้นที่ ให้คนธรรมดาสามารถลงมา ต่อยมวยได้ กีฬาพวกนี้ ปกติมันไม่มี ให้เล่นปกติทั่วไป เราเลยลองสร้างมันดู”

คนไทยจำนวนไม่น้อย ออกกำลังกาย ด้วยกีฬาประเภทต่อสู้ ทั้ง มวยสากล มวยไทย หรือเทควันโด้ บางคนนอกจากออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพดี หรือไว้เป็นวิชาป้องกันตัว พวกเขาต้องการพื้นที่ ซึ่งให้โอกาส ได้ลองต่อสู้ ตามความรู้ที่ได้เล่าเรียน หรือฝึกซ้อมมา

“สมัยก่อน ผมเป็นคนชอบออกกำลังกาย ฝึกซ้อม ต่อยมวย ต่อยกระสอบ ที่บ้านอยู่แล้ว ผมก็อยากลองชกนะ แต่มันไม่มีที่ให้เรา ได้ลองปลดปล่อย” เป้ - ชนะ วรศาสตร์ หนึ่งในทีมงาน ของไฟต์ คลับ ไทยแลนด์กล่าว

“เพื่อนผมคนนึง เขาก็มาแนะนำว่า ให้ลองไปชกที่ไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ ตอนผมมาชก เป็นแค่คู่ที่ 7 เอง พอผมได้มาลองอะไรแบบนี้ ผมติดใจเลย”

 

โอกาสของการเปลี่ยนแปลง

สังเวียนไฟต์คลับ ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ สำหรับเหล่านักกีฬา ที่อยากหาพื้นที่โชว์ความสามารถ ในกีฬาต่อสู้ แต่เวทีนี้ เปิดโอกาสให้กับสำหรับทุกคน ที่สนใจ เดินเข้าสู้สังเวียนข้างถนน ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน

หมอ ตำรวจ ทหาร พนักงานออฟฟิศ พ่อค้า คนงานก่อสร้าง คนขับรถ ไปจนถึงนักโทษ คือตัวอย่างของกลุ่มคน ที่เคยขึ้นสู้บนสังเวียนไฟต์ คลับ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

“บางคนมาชกที่นี่ เพราะแค่อยากเท่ก็มีนะ บางคนเขาอยากจะชนะใจตัวเอง อยากเอาชนะความกลัวที่มี เขาจึงมาเวทีแห่งนี้ มาทดสอบตัวเอง มาทดสอบหัวใจ” ชนะ กล่าว

นักสู้ที่มาขึ้นชกในสังเวียนแห่งนี้ มีตั้งแต่อายุ 18 ปี (ถ้าเด็กกว่านั้น ต้องมีผู้ปกครอง มารับชมที่ข้างสนาม) ไปจนถึงแก่สุด 47 ปี น้ำหนักตั้งแต่ 50 กิโลกรัม จนถึงมากกว่า 100 กิโลกรัม บางคนมาไกลจากจังหวัด ชลบุรี ระยอง นครสวรรค์ หรือตอนเหนือสุดอย่างเชียงราย

ผู้คนมากหน้าหลายตา แตกต่างกันไปในสังคม เดินทางมาจากทั่วสารทิศ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่อยากลองขึ้นชก อย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง แต่ละคนแสดงสีหน้าแววตา ก่อนขึ้นชกแตกต่างกัน บางคนแสนสงบนิ่ง บางคนเปี่ยมด้วยความตื่นเต้น บางคนสนุกสนาน เหมือนได้มาทำสิ่งที่รัก ในช่วงสุดสัปดาห์

หนึ่งเหตุผล ที่ทำให้กลุ่มคนจากทั่วสารทิศ แตกต่างชนชั้นในสังคม มารวมตัวกัน ที่ ไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ เพราะเวทีแห่งนี้ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับออกกำลังกาย ด้วยกีฬาต่อสู้เพียงอย่างเดียว แต่แฝงด้วยอุดมการณ์ ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งอยากช่วยพัฒนา และเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

“ตอนแรกก็ยังไม่มีอุดมการณ์หรอกครับ แค่อยากออกกำลังกาย พอผมเริ่มต่อย ได้เห็นคนอื่นต่อย ผมจึงเริ่มเห็นอุดมการณ์” โสภณ เปิดเผย “ผมอยากเห็นประเทศไทยลดการใช้อาวุธ ความรุนแรง”

“คนหัวร้อน มีอารมณ์ โมโหกัน โกรธกัน มันเป็นเรื่องปกติครับ แต่เรามีพื้นที่ให้ สำหรับคนหัวรุนแรง คนใจร้อน มาเจอกันที่นี่ มาพูดคุยกัน ที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ให้คุณสู้ ไม่ต้องออกไป ตีกันข้างนอก ถ้าคุณอยากสู้ ผมมีพื้นที่ให้คุณสู้ ไม่ต้องออกไปตีกันข้างนอก”

เป็นเรื่องยาก ที่จะบอกว่า นักสู้ที่มาขึ้นชก ในสังเวียน ไฟต์ คลับ กว่าร้อยชีวิต แต่ละคนได้อะไรกับไปบ้าง แต่สำหรับผู้ก่อตั้งอย่าง โสภณ นาถนุกูล ชายที่เริ่มต้น อยู่กับสังเวียนนี้ ตั้งแต่วันแรก จนถึงวันที่ครบรอบ 3 ปี เวทีนี้ได้เปลี่ยนตัวเขา ไปมากมายเหลือเกิน

“ตัวผม จากคนใจร้อน มีปัญหามีเรื่อง ผมใช้กำลัง ผมทำคนบาดเจ็บ เคยติดคุก ผมใช้ชีวิตมาแบบแย่ๆ ผมเลิกแล้ว ผมพอแล้ว การใช้กำลังในยุคนี้ มันไม่ใช่แล้วครับ ในยุคนี้สังคมสมัยนี้ ควรเป็นยุคแข่งกัน ทำมาหากินมากกว่า”

 

เวทีอันทรงเกียรติ

โดยปกติ สถานที่การต่อสู้ของ ไฟต์ คลับ จะเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ทั้งลานโล่ง ข้างถนน หน้าตลาดนัด ใต้ทางด่วน สังเวียนแห่งนี้ พร้อมจัดได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องอุปกรณ์ พิธีรีตอง อะไรมากมาย ให้ยุ่งยากเสียเวลา แบบที่เราเห็น ในสังเวียนมวยทั่วไป ของประเทศไทย

แต่ในงานครบรอบ 3 ปี ของไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ เป็นครั้งแรกที่พวกเขา ได้ลองเปลี่ยนตัวเอง จัดงานกับพื้นที่ในร่ม กลางห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมาจัดในพื้นที่ใหญ่ขึ้น ดูหรูหราขึ้น เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่า ตัวตนของพวกเขาจะเปลี่ยนไป

การทำงานของไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ ยังคงเป็นในรูปแบบเดิม มีพี่น้อง มาคอยช่วยเหลือทำงานกัน คนละไม้คนละมือ แม้จะมีปัญหา ทุลักทุเลบ้าง แต่ทีมงานทุกคน จัดงานนี้ด้วยใจรักล้วนๆ เพราะทีมงานเกือบทุกคน คืออดีตนักสู้ ที่เคยขึ้นชกแลกกำปั้น บนสังเวียน แห่งนี้มาทั้งสิ้น

“หลังจากที่ผม ได้ขึ้นชกที่นี่ ผมรู้สึกว่า ที่ตรงนี้มันโอเค ผมอยากจะรักษาตรงนี้ไว้ อยากจะเข้ามา ช่วยเติมเต็มให้กับกิจกรรมนี้ เข้ามาทำอะไรสักอย่าง ให้มันคงอยู่ต่อไป” ชนะ วรศาสตร์ เปิดเผยเหตุผล ที่เขาเลือกเปลี่ยนตัวเอง จากนักสู้ธรรมดา เข้ามาช่วยเหลือ จนเป็นทีมงานคนสำคัญ ของไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ ในปัจจุบัน


หลายคนอาจมองว่า ไฟต์ คลับ เป็นเวทีการต่อสู้ ที่เหมือนสังเวียน ที่ไร้กฎเกณฑ์ ไม่มีเวทีมาตรฐาน ไม่มีเชือก มีแค่พื้นเบาะยางธรรมดา สถานที่ต่อสู้ ไม่ได้อยู่ในสนาม อารีน่า หรือสตูดิโอใหญ่โต โดยเฉพาะในช่วงแรก ที่ยังไม่มีการใช้นวมมวย ในการต่อสู้ 

ทำให้ภาพลักษณ์ของไฟต์ คลับ ถูกมองว่า เป็นการต่อสู้ ที่ดูป่าเถื่อน และรุนแรง เกินความเป็นจริง และไม่อยากให้ การต่อสู้นี้ เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ บางคนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นการใช้กำลังอย่างไม่มีประโยชน์

“แน่นอนครับ มันมีเสียงต่อต้าน แต่พูดตามตรงนะ ผมไม่ได้แคร์” โสภณกล่าว “ผมอยากให้เขามาสัมผัส มาตัดสินเรา ด้วยตัวเอง มาดูให้เห็นกับตา ไม่ใช่ตัดสินไปก่อน ด้วยเรื่องของความรุนแรง ตัดสินไปกับภาพที่คุณไม่ชอบ”


ความเป็นจริงแล้ว ไฟต์ คลับ มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี ก่อนจัดงานแต่ละครั้ง มีทีมงานที่พร้อมช่วยป้องกัน อาการบาดเจ็บ ของทั้งนักสู้และผู้ชม มีรถพยาบาล หมอ พยาบาล ผู้มีความรู้ทางแพทย์ เพื่อคอยช่วยเหลือ นักสู้ที่อาจได้รับบาดเจ็บ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ หลังการต่อสู้ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น นวม กระจับ เพื่อคอยป้องกัน ให้นักสู้บาดเจ็บ มีอันตรายร้ายแรงน้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน เรื่องกฎกติการการต่อสู้ มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ก่อนการชกทุกครั้ง ทีมงานจะอบรมกฎกติกาให้เหล่านักสู้เป็นอย่างดี 

ส่วนเรื่องการประกบคู่การชก จะแบ่งตามช่วงน้ำหนักของคู่ชก เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ (ยกเว้นอีเวนต์พิเศษ เช่น งานครบรอบ 3 ปี ที่ไม่มีการแบ่งน้ำหนัก) สำหรับนักสู้ ที่เคยผ่านเวทีอาชีพ จะมีเวทีเฉพาะให้พิเศษ 

เวลาการต่อสู้ของทุกไฟต์ จะเท่ากันที่ 3 นาที การจบลงของไฟต์ จะเกิดขึ้นเมื่อ 3 นาทีจบลง หรือนักสู้คนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถต่อสู้ ต่อไปได้ ถือเป็นอันจบไฟต์ ที่สิ้นสุดลง ไม่มีการประกาศว่าใครคือผู้ชนะ หรือว่าใครเป็นผู้แพ้


“การไม่มีผู้ชนะและผู้แพ้ เป็นกฎที่ตายตัวของเรา พอเรามีกฎนี้ ทำให้เวทีของเรา ไม่มีเรื่องของการเดิมพัน หรือการพนัน” โสภณ เผยถึงความตั้งใจ ของไฟต์ คลับ ที่ทำให้ภาพของเวทีนี้ ยิ่งแตกต่าง จากเวทีมวยทั่วไป

“สำหรับผม สิ่งที่ไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ เป็นอยู่ คือสังเวียนลูกผู้ชาย เวทีของการให้เกียรติกัน การเป็นสุภาพบุรุษ” ชนะ กล่าวเพิ่มเติม ถึงความหมายของเวทีแห่งนี้

“ส่วนตัวนะ ผมมีความพยายาม อยากจะเปลี่ยนมุมมองของพวกเขา กลุ่มคนที่มองเราไม่ดี แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว เขามีอคติกับเรา ผมคงทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว แต่มันเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็คงต้องปล่อยไป”

ไม่ว่าใคร จะติดสินไฟต์ คลับ ว่าเป็นเช่นไร แต่ในงานครบรอบ 3 ปี มีผู้ชมกว่าหลายร้อยคน ติดตามการต่อสู้ครั้งนี้ ชิดติดขอบเวที ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ปิดลงเวลา 4 ทุ่ม ผู้คนยังคงไม่หนีไปไหน คอยชมการชก ที่ยังคงดำเนินต่อไป 

ขณะที่ เสียงตะโกน โห่ร้อง และเสียงปรบมือ ดังกึกก้อง คือสิ่งที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดี ว่าการมาสัมผัส ประสบการณ์ไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ ทำให้ผู้ชมแต่ละคน คิดอย่างไร กับการต่อสู้รูปแบบนี้

 

สังเวียนแห่งมิตรภาพ

“มาชกที่ไฟต์ คลับ สิ่งที่ได้กลับไปคือมิตรภาพครับ” นักสู้หลายคนเอ่ยปากถึงคำนี้ หลังจากที่พวกเขาได้ก้าวลง จากเวทีเบาะยาง ผ่านสังเวียนลูกผู้ชายมาหมาดๆ

เป็นคำพูดที่ชวนฉงน หากย้อนไปถึงช่วง 3 นาที ของการต่อสู้ แต่ละไฟต์ ต่อยกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เสมือนโกรธกันมา ตั้งแต่ชาติปางก่อน ดุเดือดยิ่งกว่ามวยอาชีพ ทั้งที่ไม่มีเรื่องผลแพ้-ชนะ เงินรางวัล เข็มขัดแชมป์ เกียรติยศ มาเป็นเดิมพัน

แต่ภาพที่ได้เห็น หลังจบการต่อสู้ นักสู้สองคนเดินกอดคอกัน ออกนอกเวที พูดคุยกันขอโทษ ขอโพยกัน บางคนผลัดกันแอดเฟซบุค หรือหลายคนที่มาชก เป็นเพื่อนที่รู้จักกัน เคยไปกินข้าวด้วยกัน นอกสังเวียนมาแล้ว

“ผมมองว่า มันไม่ใช่แค่กิจกรรม กิจกรรมหนึ่ง มันเป็นการรวมตัว คนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ใช้ใจคุยกัน ใช้หมัดคุยกัน” ชนะ แสดงความเห็น

“ส่วนตัว ผมคิดว่า สิ่งที่เราอยากจะนำเสนอคือ ถึงเราจะต่อยกันหนักแค่ไหน เราเป็นเพื่อนกันได้ คนมาชกกัน ไม่จำเป็นต้องเกลียดกัน ต้องพยายามเอาชนะกัน แต่ที่เรามาชกกัน มารวมตัวกัน เรามาเพื่อหามิตรภาพ”

“เราอาจไม่ได้เงิน เราไม่ได้รางวัล แต่เราได้มิตรภาพกลับไป เรามาสู้กัน แสดงความมีน้ำใจ เราไม่ได้หวังอะไรกลับไป แค่ต้องการเพื่อน”

“อันที่จริงแล้ว เราต้องขอบคุณคู่ชก ด้วยซ้ำไปครับ ที่มาเป็นเพื่อนชกกับเรา เหมือนเตะฟุตบอลครับ เราจะเตะได้ยังไง ถ้าไม่มีเพื่อนมาเตะด้วย”

คนจำนวนไม่น้อย ที่ได้มาชกในไฟต์ คลับ พวกเขาได้รับการบอกต่อ หรือชักชวน จากเพื่อนที่เคยมาชก หลายคนพาเพื่อนฝูง ภรรยา หรือลูกน้อย มาคอยเป็นกำลังใจข้างสนาม ในยามที่เขา ขึ้นเวที ไปพิสูจน์หัวใจ ของตนเอง

ที่สำคัญ ตลอด 3 ปี ซึ่งมีการต่อสู้เกิดขึ้น มากกว่า 500 ไฟต์ ไม่เคยมีการทะเลาะกันต่อนอกรอบ หรือไปต่อยตีกัน หลังงานเลิก มีแต่รอยยิ้มที่สวยงาม การจับมือแบบลูกผู้ชาย เท่านั้น

นอกจากการสร้างมิตรภาพ ระหว่างคนในกลุ่ม หรือหมู่นักชกไฟต์ คลับ ด้วยกันแล้ว ทางไฟต์ คลับ ยังมีกิจกรรมดีๆ ส่งต่อมิตรภาพ ของพวกเขาออกไปอีก ด้วยการทำโครงการ “กำปั้นปันน้ำใจ” เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทางสังคม 

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไฟต์ คลับ ไทยแลนด์ เดินหน้าตามแนวทางของตัวเอง มาโดยตลอด ไม่ได้สนใจเสียงรอบข้าง ที่คอยวิพากษ์ ถึงเรื่องความเหมาะสมต่างๆ พวกเขาเดินตาม แนวความคิดที่เชื่อ จัดกิจกรรม อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังเวียนแห่งนี้ ยังคงอยู่ และเติบโตต่อไป

บางคนมาชกครั้งเดียว แล้วไม่ได้กลับมาอีก บางคนมาชกทุกครั้ง ที่มีโอกาส บางคนผันตัวจากนักชก มาเป็นทีมงาน 

แต่ไม่ว่าใคร จะมาที่เวทีไฟต์ คลับ กี่ครั้งก็ตาม ไม่ว่าจะมาตามหาสิ่งใด มาเพื่อทดสอบอะไร มาเป็นนักสู้หรือคนดู สิ่งที่เราเห็นว่าทุกคนได้รับกลับไป อย่างแน่นอน คือ “มิตรภาพ” ความรู้จัก รักใคร่ ระหว่างเพื่อนเก่า และเพื่อนใหม่ 

“ผมได้เห็นอะไรหลายอย่าง ที่มาทำตรงนี้ ได้เจอผู้คนมากขึ้น ได้เห็นมิตรภาพ ได้เห็นใจของคน ผมว่าโลกปัจจุบัน คนที่มีศัตรูเยอะ อยู่ไม่ได้หรอกครับ คนที่มีเพื่อนเยอะต่างหากครับ คือคนที่เก่งจริง” ชนะ ทิ้งท้ายกับเรา

 

 

#ขอบคุณข้อมูลจาก > MainStand 

2019-07-10 12:02:15
1731

มวยดังในอดีต

มวยดังในอดีต ตำนานมวยไทย อดีตนักมวยชื่อดัง ตามหานักมวยชื่อดังในอดีต | ดีเด็ดมวยไทย

กีฬารอบโลก

กีฬารอบโลก นานากีฬา ข่าวเด็ดๆ คัดเน้นๆ เพื่อให้แฟน ทีเด็ดมวยไทย ได้ดูเน้นๆ กีฬาดังๆ ฮ็อตฮิตทั่วโลก

ดาวรุ่งภูธร

ดาวรุ่งภูธร มวยดาวรุ่ง มวยหน้าใหม่จากภูธร มวยบ้านนอก ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย

ขวัญใจแฟนมวย

ขวัญใจแฟนมวย นักมวยขวัญใจแฟนมวย นักมวยหน้าหยก พระเอกมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย