จากประโคนชัยถึงแมดิสันสแควร์ : บันทึกแชมป์โลกคิกบอกซิงชาวไทย “เพชรพนมรุ้ง”

จากประโคนชัยถึงแมดิสันสแควร์ : บันทึกแชมป์โลกคิกบอกซิงชาวไทย “เพชรพนมรุ้ง”
จากประโคนชัยถึงแมดิสันสแควร์ : บันทึกแชมป์โลกคิกบอกซิงชาวไทย “เพชรพนมรุ้ง”

ขอบคุณเนื้อหา mainstand

 

คิกบอกซิง ไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความสนใจมากนักในเมืองไทย แต่ชีวิตของแชมป์โลกคิกบอกซิง ชาวไทยคนหนึ่งที่ออกไปล่าความสำเร็จในดินแดนโพ้นทะเลนั่นมีความสนใจอยู่ไม่น้อย


 

เขาคนนั้นคือ “เพชรพนมรุ้ง เกียรติหมู่ 9” นักชกจากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ครองตำแหน่งแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวท (65 กิโลกรัม) ขององค์กรคิกบอกซิงระดับโลกอย่าง “Glory” ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปและอเมริกาฯ 

แม้ว่าพื้นเพและปูมหลังของเขา จะมาจากการชกมวยไทย และเคยสร้างชื่อเป็นที่รู้จักในแวดวงหมัดมวยบ้านเรา ในฐานะนักมวยไทยดาวรุ่งค่าตัวเรือนแสน แต่กำปั้นหนุ่มวัย 24 ปี กลับเลือกเดินในเส้นทางที่นักมวยไทยหลายคนไม่เคยทำ นั่นคือหันหลังให้กับ สังเวียนมวยไทยในประเทศ เพื่อออกไปเผชิญความท้าทายในอาชีพนักคิกบอกซิง อย่างเต็มตัว

บนสังเวียนที่การต่อสู้ที่ต้องเจอกับ คู่ชกชาวต่างชาติ และสนามแข่งขันต่างแดนทุกไฟต์ รวมถึงกฏ กติกา บรรยากาศกองเชียร์ ที่ไม่มีอะไรเป็นใจให้แก่ นักสู้ชาวไทย สักอย่าง… แล้วอะไรกันที่ผลักดันให้เขาไปถึงตำแหน่งแชมป์โลก ในกีฬาที่คนไทยไม่นิยมอย่าง คิกบอกซิง 

 

 

รอยเท้าเล็กๆ  

เวทีผืนผ้าใบสภาพเก่า ที่มีโคมไฟดวงเล็กอยู่ด้านบน คอยส่องแสงสว่างให้ผู้ชมพอได้เห็นนักมวยบนเวที คือ ลานการต่อสู้ ที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นในเส้นทางสายนักชกของ “เด้ง - พันแสง เอี่ยมสิริ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เพชรพนมรุ้ง เกียรติหมู่ 9”


“ผมมาสนใจชกมวยไทย เพราะว่าตอนเด็กๆ ผมเห็นพี่ชายคนโต พนมรุ้งเล็ก เกียรติหมู่ 9 (บุญสม เอี่ยมสิริ) เขาออกไปต่อยมวยได้เงินรางวัล ส่งเงินกลับมาให้ทางบ้าน ผมก็อยากจะหาเงินใช้ เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว ที่ประกอบอาชีพทำนา ผมเริ่มไปฝึกมวยไทยตั้งแต่อายุ 8 ขวบที่ค่ายเกียรติหมู่ 9”

“ตอนแรกๆ ผมก็ไม่ได้ชอบมวยไทย เพราะว่าฝึกค่อนข้างหนักและเหนื่อยมาก แต่ผมชอบความรู้สึกเวลาได้ขึ้นชก มันสนุกดี ผมเริ่มจากชกค่าตัว 150 บาท ก่อนจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามผลงาน ผมออกไปเดินสายต่อยตามจังหวัดต่างๆ บุรีรัมย์, มหาสารคาม, สุรินทร์, อุบลฯ, ร้อยเอ็ด ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าทุกวันนี้จะมาไกลขนาดนี้” เจ้าของค่าตัว 1,150,000 บาทต่อไฟต์ ในปัจจุบัน เล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเยาว์



พันแสง เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวเกษตรกรรม ในตำบลตะโกตาพิ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน โดยที่ พันแสง เป็นบุตรคนที่ 5 อายุห่างกับพี่ชายคนโต พนมรุ้งเล็ก ถึง 10 ปี 

ภาพที่เขาจำได้ติดตา ในวัยเด็กก็คือ ภาพของพี่ชายผู้เปลี่ยนแปลงฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ลืมตาอ้าปากได้ ด้วยความสามารถในการชกมวยไทยและมวยสากล จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยอดมวยสองแบบ” 

ประกอบกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม บ้านของเขาอยู่ห่างจากค่าย เกียรติหมู่ 9 เพียงแค่ 300 เมตร  เพชรพนมรุ้ง จึงเข้าไปฝึกฝนวิชามวยไทย และตระเวนออกชกมวยตามงานวัดคู่กันกับ ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9 (มนัสชัย เอี่ยมศิริ) นักมวยผู้มีความสัมพันธ์เป็นทั้งญาติทางพ่อและเพื่อนที่โตมาด้วยกัน

กระทั่ง เพชรพนมรุ้ง อายุได้ 14 ปี เขาขยับตัวเองเข้ามาใกล้กับเส้นทางของพี่ชายอีกขั้น เมื่อเข้ามาชกมวยไทยอาชีพในเวทีมวยลุมพินี สังเวียนมาตรฐานในเมืองกรุง 



“ผมชกมวยต่างจังหวัดมากกว่า 100 ไฟต์ ก็เริ่มมีชื่อขึ้นมา จึงได้รับการติดต่อให้เข้ามาชกในกรุงเทพฯ ไฟต์แรกค่าตัว 8,000 บาท ตอนนั้นชกในพิกัดน้ำหนัก 38 กิโลกรัม”

“ผมไม่คิดหรอกว่าตัวเองจะไปถึงมวยเงินแสน ตอนแรกตั้งเป้าหมายไว้แค่ ถ้ามีค่าตัวถึงสัก 50,000 บาท ก็คงพอใจแล้ว แต่ผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ จนได้มาเจอกับมวยเก่งๆยุคนั้น อย่าง พี่สามเอ, พี่น้องโอ๋, พี่ปกรณ์, พี่ก้องศักดิ์ ผมชกมวยไทยจนถึงอายุสัก 21-22 ปี ค่าตัวผมขึ้นไปถึง 120,000 บาท”

“ก่อนจะมาเจอจุดเปลี่ยน ทางหัวหน้าค่าย (สุดใจ ปุ่มประโคน) บอกว่า ค่ายศิษย์สองพี่น้อง เขาอยากหานักมวยไทยถนัดซ้าย ไปชกต่างประเทศ ศึก Glory Kickboxing ผมก็สนใจ อยากลองไปชกดู เพราะเงินดีด้วย ผมได้ค่าตัวไฟต์แรก 180,000 บาท แต่คิดว่าคงไปเป็นครั้งคราว ไม่ได้คิดว่าจะมาจริงจังเหมือนตอนนี้ เพราะผมอายุยังน้อย สามารถชกมวยไทยได้อีกหลายปี” เพชรพนมรุ้ง ที่ปัจจุบันไม่ได้เป็น นักมวยไทยอาชีพ เผยถึงความคิดในตอนนั้น

 

กีฬาใหม่ = การเรียนรู้ใหม่

เพชรพนมรุ้ง เกียรติหมู่ 9 เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะนักชกมือไร้อันดับ ศึก Glory ครั้งที่ 39 ที่จัดขึ้นในเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปี 2016 


เขาเอาชนะคู่ชกชาวมอลโดวาไปได้ในไฟต์เปิดหัว และเก็บชัยได้ต่อเนื่องในไฟต์ที่สองและสาม ศึก Glory ครั้งที่ 39 ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม เหนือคู่ต่อสู้จากชาติ ยูเครนและรัสเซีย 

5 เดือนต่อมาหลังนั้น เพชรพนมรุ้ง ตัดสินใจอำลาการชกมวยไทย พร้อมกับเดินทางสายใหม่ในอาชีพนัก คิกบอกซิง กีฬาที่เหมือนเข้าใจง่าย แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย และมิติการต่อสู้ที่แตกต่างกับมวยไทยอย่างสิ้นเชิง

“คิกบอกซิง มันเหมือนการนำเอากีฬาต่อสู้หลายๆ ชนิดมารวมกัน แต่ห้ามใช้ศอก, ใช้เหลี่ยมมวยไทย เช่น จับขา ปัดขา จับล็อกไล่แขน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมถนัด (หัวเราะ) ก็ต้องมาปรับวิธีการฝึกซ้อมใหม่หมดให้ออกอาวุธเร็วขึ้น ขยับอยู่ตลอดเวลา ออกอาวุธแล้วต้องพลิกตัวซ้ายขวา”

“ตอนแรกผมก็ชกมวยไทยควบคู่กับต่อยคิกบอกซิง  แต่พอกลับมาต่อยมวยไทย สภาพร่างกายเราไม่ได้ เพราะมวยไทยต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมทุกเดือน แต่คิกบอกซิง ปีหนึ่งมีรายการแค่ 3-4 ไฟต์เท่านั้น ไม่ได้ชกบ่อย” 


“ประกอบเรื่องการฝึกซ้อมที่ต้องปรับเปลี่ยนสไตล์ เพราะวิธีการเอาชนะคู่แข่งต่างกัน อย่างมวยไทยดูตามอาการ ทรงมวย บรรยากาศหน้าเสื่อ แต่คิกบอกซิง เขาดูตามอาวุธที่ออก มีคะแนนขึ้นทุกยก ก็ทำให้มีป้ญหาเรื่องการปรับตัว เวลากลับมาชกมวยไทย ผลงานจึงไม่ค่อยดี แพ้ 2 ไฟต์”

“แต่กับคิกบอกซิง ผมชกไปได้ 4 ไฟต์ ชนะติดๆกัน ก็ได้ขึ้นมาชิงเข็มขัดไฟต์ที่ 5 กับ โรบิน ฟาน รูสมาเลน (Robin Van Roosmalen) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ค่าตัวผมก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 แสน 3 แสน 4 แสนบาท ผมจึงตัดสินใจมาชกคิกบอกซิงเต็มตัว เพราะต้องการทำผลงานออกให้ดีที่สุด” 


เพชรพนมรุ้ง ยอมรับว่าเส้นทางสู่ตำแหน่งแชมป์โลก คิกบอกซิง นั้น มีความยากลำบากมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ความแตกต่างของเวลา (Time Zone) ที่ต่างกับบ้านเราหลายชั่วโมง

รวมถึงคู่ต่อสู้ที่มีความชำนาญในกีฬาชนิดนี้มากกว่าเขา เพราะสำหรับนักชกชาวยุโรป และอเมริกา “คิกบอกซิง” ถือเป็นกีฬายืนสู้ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 

ดังนั้นแชมป์โลก Glory จึงเป็นรางวัลที่นักคิกบอกซิงอาชีพจากยุโรปและอเมริกา ใฝ่ฝันอยากขึ้นไปครองเข็มขัดแชมป์ 

นั่นทำให้ศึก Glory Kickboxing สามารถตระเวนจัดการแข่งขันได้ในหลายๆประเทศทั่วโลก ทั้ง เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, เบลเยียม, จีน, เยอรมัน, อังกฤษ, เดนมาร์ก, อิตาลี, ยูเออี, ตุรกี, โครเอเชีย, ญี่ปุ่น, สวีเดน 

นักชกชาวไทย ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับกฏ กติกา และรูปแบบกีฬาของคิกบอกซิง ซึ่งลดทอนความได้เปรียบของนักมวยไทยไป  แต่ในอีกมุมหนึ่ง เพชรพนมรุ้ง บอกกับเราว่า ศาสตร์มวยไทยที่เขาเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก นั่นมีส่วนช่วยให้เขาคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่ง ในการชกคิกบอกซิงอาชีพต่างแดน 


“ผมคิดว่าตัวเองต้องเรียนรู้ใหม่ เพื่อชกคิกบอกซิงประมาณ 50 เปอร์เซนต์ แต่อีกครึ่งหนึ่งผมนำเอาวิชามวยไทยมาปรับใช้ได้ อย่างเช่น เรื่องการป้องกัน” เพชรพนมรุ้ง กล่าวเริ่ม 

“ฝรั่งเขาจะเก่งเรื่องการออกหมัด ดังนั้นเวลาใช้หมัด ผมจะต่อยแล้วบล็อก ต่อยแล้วปิดการ์ด ไม่เปิดหน้าแลกกับเขา  เช่นเดียวกับตอนเตะ ถ้าเขาเตะมา ผมใช้แข้งบังโดยอัตโนมัติ แต่ฝรั่งเขายกแข้งบังไม่เป็นแบบนักมวยไทย ผมจึงเน้นมาเตะขามากขึ้น จากเดิมที่นักมวยไทย จะเน้นเตะลำตัวโดยธรรมชาติ”

“อีกอย่างการชกมวยไทยมาก่อน ทำให้ผมมีกระดูกมวยที่แข็งกว่าฝรั่ง เวลาออกอาวุธจะหนักแน่นกว่า สามารถเอาตัวรอดได้ดีกว่าฝรั่ง เพราะนักมวยไทยมีประสบการณ์ในการขึ้นชกมากกว่าฝรั่ง และนักมวยไทยก็เก็บอาการเก่ง เวลาโดนจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ฝรั่งเวลาเขาโดน เขาจะไม่เก็บอาการเลย ถ้าเราเก็บอาการได้ คู่ต่อสู้ก็จะไม่รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร” 

การมีวิชามวยไทยติดตัว อาจเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ เพชรพนมรุ้ง มีต้นทุนพร้อมที่จะต่อยอดในกีฬาคิกบอกซิง แต่การจะไปให้ถึงตำแหน่งแชมป์โลก คิกบอกซิง Glory ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย  โดยเฉพาะการศึกษาเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้กีฬาชนิดอื่น  

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า คิกบอกซิง ได้เปิดโลกแห่งการต่อสู้ให้ เพชรพนมรุ้ง ได้เห็นในมุมที่กว้างกว่าแค่กีฬา มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่เขารู้จักเป็นอย่างดี

“ครั้งแรกที่ผมได้ขึ้นชิงแชมป์โลก วันนั้นผมแพ้ เพราะยังชกได้ไม่ชัดเจน ช่วงที่ผมเริ่มชกคิกบอกซิง ผมถูกกรรมการเตือนบ่อยมาก ถึงขั้นตัดคะแนน เรื่องการกอด คิกบอกซิงสำหรับผมในตอนนั้น จึงถือเป็นอะไรที่ยาก แต่พอผ่านได้มาสัก 2 ปี ผมคิดว่าตัวเองปรับตัวเข้ากับมันได้แล้ว”

“สิ่งสำคัญคือเราต้องศึกษากติกาให้ละเอียดว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ? รวมถึงต้องศึกษาศิลปะการต่อสู้ชนิดอ่นๆด้วย อย่างตัวผมก็ศึกษากีฬาต่อสู้อื่นๆ ประมาณ 10 ชนิดกีฬา เช่น คาราเต้, เทควันโดฯ เพื่อจะได้เข้าใจสไตล์คู่ชก” 

“มันต่างกับมวยไทยเลยนะ เพราะอย่างมวยไทย เราพอจะรู้ว่านักมวยแต่ละคน ชกแบบไหน เก่งลูกไหน เหลี่ยมวยเป็นอย่างไร แต่ฝรั่งเราคาดเดาอะไรแทบไม่ได้เลย เราจะไม่รู้เลยว่า เขาจะออกอาวุธประมาณไหน บางทีเขาเตะ Back Kick (ลูกเตะกลับหลัง) หรือตีลังกาเอาเท้าฟาด เราก็ต้องมีไหวพริบ และดูให้ออกว่าเขาจะมาไม้ไหน เพราะนักสู้แต่ละคน ก็มีลูกเล่นที่ต่างกัน”

 

เสียงปรบมือจากเมดิสัน สแควร์ 


ทุกๆ ไฟต์ในการขึ้นสังเวียน คิกบอกซิง ที่ยุโรปและอเมริกา ทำให้ เพชรพนมรุ้ง เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้เขาจะเริ่มต้นกีฬาชนิดนี้ ช้ากว่านักคิกบอกซิงอาชีพทั่วไปในองค์กร Glory

แต่เมื่อเขาไม่เคยหยุดที่เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ความสำเร็จในตำแหน่งแชมป์โลก จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝัน

“สมัยผมไปต่อยคิกบอกซิงครั้งแรกๆ ผมรู้สึกเหนื่อยหมดแรงตั้งแต่ยก 3 (ชกรอบปกติ 3 ยก, ชกชิงแชมป์ 5 ยก) เพราะต้องคอยออกอาวุธและเคลื่อนที่ตลอดเวลา แต่พอเรามีประสบการณ์ ช่วงหลังผมไม่ได้รู้สึกเหนื่อย เรารู้แล้วว่าควรเร่งหรือผ่อนจังหวะไหน เรานิ่งขึ้น”

“เราไม่ได้กดดันตัวเองเหมือนตอนแรกๆ เพราะรายการนี้ ห้ามแพ้เลย ถ้าแพ้แทบไม่มีโอกาสขึ้นชิง ต้องชนะติดๆกันหลายไฟต์ แต่เรารับมือกกับความกดดันได้ ไม่ได้สนใจเสียงโห่ในสนาม พยายามตั้งใจทำผลงานออกมาดี ก็เอาชนะคู่แข่งมาได้เรื่อยๆ จนมีโอกาสขึ้นชิงเข็มขัดแชมป์โลกอีกครั้ง”

ค่ำคืนวันที่ 20 กรกฎาคม 2018 ณ โรงละครเมดิสัน สแควร์ การ์เดน มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา “เพชรพนมรุ้ง เกียรติหมู่ 9” นักชกหนุ่มจากอำเภอประโคน มีคิวขึ้นสังเวียนชิงแชมป์เฉพาะกาล พบกับ เควิน วานนอสแตนด์ (Kevin VanNostrand) นักสู้เจ้าถิ่น ท่ามกลางกองเชียร์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเต็มความจุ

ตลอดเกมการชก เพชรพนมรุ้ง เป็นฝ่ายออกอาวุธได้ดีกว่า เควิน วานนอสแตนด์ โดยเฉพาะจังหวะการเตะ สมฉายา “The Professor” (ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแข้ง) ที่ทาง Glory ตั้งให้เขา เอาชนะคะแนนไปได้อย่างขาดลอย ไม่นานหลังจบเกม ผู้ชมก็ในสนามต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับ นักสู้ชาวไทย 

นับเป็นโมเมนต์ที่ เพชรพนมรุ้ง บอกกับเราว่า “ประทับใจที่สุด” เพราะเขาไม่คิดวันหนึ่งชาวต่างชาติ จะให้การยอมรับในตัวเขามากขนาดนี้ จากที่เริ่มต้นชกคิกบอกซิง Glory ท่ามกลางเสียงโห่จากผู้ชมในสนาม 

“คิกบอกซิงเป็นกีฬาที่เปิดโลกผม ทำให้รู้จักหลายๆชนิดกีฬา และได้ไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต อย่างไฟต์ที่ผมชิงแชมป์เฉพาะกาล ผมชิงกับคนอเมริกาในบ้านเขา แต่หลังจบไฟต์ คนอเมริกาลุกขึ้นปรบมือให้เราทั้งสนาม เพราะเขาชอบเรา ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจมาก”

“ทุกวันนี้เวลาไปชกที่อเมริกา ความรู้สึกเหมือนชกในบ้านเลย เพราะแฟนๆที่นั่นเขาชอบนักมวยไทย คิดแล้วคนต่างชาติรู้จักผมเยอะกว่าคนไทยเสียอีก (หัวเราะ) ผมเดินไปไหนมาไหนในไทย บางทีคนยังไม่รู้จักผมเลย แต่ถ้าเป็นเมืองนอก ฝรั่งจะเข้ามาถ่ายรูปและทักทาย เพราะรายการนี้มีถ่ายทอดสดไปในหลายๆ ประเทศ"

ในไฟต์ต่อมา เพชรพนมรุ้ง สามารถกระชากเข็มขัดจาก โรบิน ฟาน รูสมาเลน นักชกชาวดัตช์ ถึงถิ่น ภายในสนามกรุงอัมสเธอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ปัจจุบัน เพชรพนมรุ้ง ผ่านการป้องกันแชมป์โลกรุ่น เฟเธอร์เวท มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งนับเป็นคนไทยคนเดียว ณ ตอนนี้ ที่เป็นแชมป์โลก Glory Kickboxing หลังจากก่อนหน้านี้ สิทธิชัย ศิษย์สองพี่น้อง เคยเป็นแชมป์โลกรุ่นไลท์เวต แต่เสียเข็มขัดไป

ค่าตัวหลักล้านบาทต่อไฟต์จากการชกคิกบอกซิง ช่วยให้ เพชรพนมรุ้ง ในวัย 24 ปี มีทรัพย์สินมากพอ ที่เริ่มตั้งตัวสร้างฐานะและนำไปซื้อรถยนต์กับทำบ้านปูนหลังใหม่ มูลค่านับล้านบาท เพื่อให้ครอบครัวได้อยู่อย่างสุขสบาย แทนหลังเก่าที่เป็นบ้านไม้ และเริ่มมีสภาพพุพังไปตามกาลเวลา

แม้คนส่วนมากอาจยังไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวของ เพชรพนมรุ้ง เพราะเขาไปเป็นนักกีฬาอาชีพ ในดินแดนที่ห่างไกล และไม่มีการถ่ายทอดสดกลับมายังแผ่นดินเกิด เหมือนกับนักมวยไทยที่ชกในศึก ONE Championship หรือ Kunlun Figth 

แต่สำหรับ พันแสง เอี่ยมสิริ เขาบอกกับเราว่า มันไม่สำคัญเลยว่าคนไทยจะรู้จักเขามากน้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่สำคัญสุดในการชกทุกครั้ง คือ การทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ในฐานะแชมป์โลกนักต่อสู้ สัญชาติไทย 


“เดี๋ยวนี้นักมวยไทยก็เริ่มออกไปชกต่างประเทศเยอะขึ้น อย่างรายการ ONE Championship ที่มีการเซ็นสัญญานักมวยไทยหลายคนไปต่อยคิกบอกซิง ก็อยากให้คนไทยเปิดใจมองว่า คิกบอกซิง เป็นกีฬาทางเลือกหนึ่งที่สร้างรายได้ให้นักมวยไทยได้ดี หากนักมวยไทย คิดจะเอาดีทางนี้ ผมว่าสิ่งสำคัญควรต้องศึกษากติกาอย่างละเอียด รวมถึงสไตล์ของคู่ชก เพื่อเตรียมรับมือ”

“ส่วนตัวผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนปกตินะ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองพิเศษอะไร ยังเป็นคนธรรมดา บ้านๆ ตอนนี้ คงวางแผนชกคิกบอกซิงไปเรื่อยๆ เพราะว่ารายได้ค่อนข้างดี และทุกอย่างเริ่มลงตัวแล้ว ถึงแม้ว่าในศึก Glory คนไทยจะยังไม่ค่อยรู้จัก แต่ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก” 

“ผมคิดแค่ว่าทุกครั้งที่ขึ้นไปชก ผมจะก็พยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าคนบ้านเรา จะรับรู้หรือไม่ก็ตาม ผมเต็มที่ทุกครั้ง ไม่ให้เสียชื่อคนไทย”

 
2019-09-27 13:34:03
1611

มวยดังในอดีต

มวยดังในอดีต ตำนานมวยไทย อดีตนักมวยชื่อดัง ตามหานักมวยชื่อดังในอดีต | ดีเด็ดมวยไทย

กีฬารอบโลก

กีฬารอบโลก นานากีฬา ข่าวเด็ดๆ คัดเน้นๆ เพื่อให้แฟน ทีเด็ดมวยไทย ได้ดูเน้นๆ กีฬาดังๆ ฮ็อตฮิตทั่วโลก

ดาวรุ่งภูธร

ดาวรุ่งภูธร มวยดาวรุ่ง มวยหน้าใหม่จากภูธร มวยบ้านนอก ดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย

ขวัญใจแฟนมวย

ขวัญใจแฟนมวย นักมวยขวัญใจแฟนมวย นักมวยหน้าหยก พระเอกมวยไทย | ทีเด็ดมวยไทย